องค์การเภสัชกรรม เปิดตัวโครงการบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมใหม่ เพื่อสนับสนุนกลุ่ม start up สร้างนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ ปีที่ 2
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องประชุม The Siam Ballroom โรงแรม Lancaster Bangkok Hotel กรุงเทพฯ พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมใหม่ขององค์การเภสัชกรรม (GPO Ignite Program) รุ่นที่ 2 โดยกิจกรรมดังกล่าวมีวิทยากรร่วมให้ความรู้ด้านนวัตกรรมมากมาย ประกอบด้วย ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ประธานคณะทำงานผู้ประเมินโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และอ.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโชและคณะ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ คณะทำงานผู้ประเมินโครงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ องค์การเภสัชกรรม และมีทีมพัฒนานวัตกรรม ที่ได้รับการคัดเลือก ร่วมรับฟัง
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้จัดทำโครงการ GPO Ignite Program เป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะแบบเข้มข้น เพื่อสร้างความพร้อมและโอกาสในการร่วมลงทุนระหว่างองค์การเภสัชกรรมและพันธมิตร ผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งถือเป็นโครงการบ่มเพาะจากองค์การเภสัชกรรม ที่ตั้งใจมุ่งมั่นสนับสนุนกลุ่ม start up ดำเนินงานโครงการนวัตกรรมทางด้านยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ รวมถึงบริการและงานวิจัยทางการแพทย์ ให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริง เป็นการช่วยประเทศชาติ และส่งเสริมให้กลุ่มคนเหล่านี้มีศักยภาพ และเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อไปว่า โครงการบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมแบบเข้มข้น GPO Ignite Program ปีที่ 2 ได้รับความสนใจจากกลุ่ม start up สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 48 โครงการ และ ได้มีการ Pitching คัดเลือกทีมเข้าสู่โครงการบ่มเพาะ GPO Ignite Program จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการอุปกรณ์ฟื้นฟูแขนแบบสองข้างพร้อมกันด้วยกลไกตรวจจับการออกแรง ซึ่งเป็นนวัตกรรมอุปกรณ์ฟื้นฟูสมรรถภาพแขนเจ้าแรกของไทยเพื่อคนไทยเข้าถึงได้เพิ่มโอกาสฟื้นฟูประสิทธิภาพและทันท่วงที จาก บริษัท เกรท เทค แอนด์ อินโนเวชั่น จำกัด 2.โครงการ NPI ระบบควบคุมแรงกดเฉพาะบุคคลแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยี Pressure ReBalancing ช่วยควบคุมแรงกด ส่งข้อมูลแบบออนไลน์และควบคุมแบบ Real time ใช้งานเชิงพาณิชย์แล้วในหลายโรงพยาบาล และกำลังขยายผลสู่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จาก บริษัท เฟมเม เวิร์ค จำกัด 3.โครงการไม้เท้าอัจฉริยะ ซี่งเป็นไม้เท้าที่เชื่อมกับแอปพลิเคชันส่งข้อมูลสุขภาพจากผู้ใช้ถึงผู้ดูแล(HIAAS) สามารถตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต และตำแหน่ง จากบริษัท เทค แคร์ ซิสเตม จำกัด 4.โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มระบบแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นพัมนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิ จากบริษัท ด๊อกเตอร์อาสาเฮลท์ จำกัด 5.โครงการสารสกัดโนบิทเทอร์แคล ซึ่งเป็นสารสกัดจากผักเคล เพื่อช่วยควบคุมระดับไขมันและน้ำตาล จากบริษัท โนบิทเทอร์ จำกัด 6.โครงการครีมนาโนสมุนไพรไทยกัญญ์ เฮิร์บ โดยกัญญ์ เฮอร์เบิล นูริชชิ่ง บอดีครีม อานุภาคนาโนสารสกัดสำคัญสมุนไพรไพล ขมิ้นชัน เพื่อพัฒนาเป็นยา ของบริษัทกัญญ์ เฮิร์บ(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทั้ง 6 โครงการ จะได้รับการประเมินความเป็นไปได้ในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ และการพิจารณาความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมต่อไป
“องค์การเภสัชกรรมเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่ม นำไปสู่องค์กรที่มีนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและยั่งยืน มีความมุ่งมั่นตั้งใจสนับสนุนกลุ่ม start up ในการพัฒนานวัตกรรมด้านการเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ การบริการ ที่เป็นรูปธรรม เตรียมพร้อมออกสู่ตลาดจริง และเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย ” ผู้อำนวยการฯ กล่าว