องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

ข้อมูลทั่วไป

10 มกราคม 2567
ขนาดตัวอักษร

ประวัติความเป็นมาขององค์การเภสัชกรรม

โอสถสภา-โอสถศาลา-โรงงานเภสัชกรรม

          ยาแผนปัจจุบัน ได้ค่อย ๆ ทวีความนิยมในประชาชนคนไทย พร้อม ๆ กันกับความนิยมของประชาชนที่มีต่อการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์แผนปัจจุบันก็ได้เจริญจากกรุงเทพมหานครออกสู่ชนบท พร้อม ๆ กับการเจริญเติบโตของกิจการสาธารณสุขของประเทศซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการจัดตั้งหน่วยงานของทางราชการที่เกี่ยวกับสาธารณสุข อันพอจะสรุปได้ ดังนี้

          พ.ศ. 2429 ตั้ง "คอมมิตตี จัดการโรงพยาบาล" สร้างโรงพยาบาลที่วังหลังธนบุรี (ศิริราชพยาบาล) 25 ธันวาคม 2431 ตั้งกรมพยาบาลขึ้นแทน คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาลที่พ้นหน้าที่ไป

          พ.ศ. 2434 จัดระบบบริหารราชการแผ่นดินใหม่เป็น 12 กระทรวง จัดให้กรมพยาบาลอยู่ในสังกัดของกระทรวงธรรมการ

          พ.ศ. 2444 มีการตั้งโอสถศาลารัฐบาลอยู่ในกรมพยาบาลเป็นที่สะสมยา

          พ.ศ. 2451 โอนกิจการและกองต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน ตลอดจนแพทย์ประจำเมืองมาสังกัดในกรมกระทรวงมหาดไทย

          พ.ศ. 2455 ตั้งกรมพยาบาลขึ้นใหม่อีกในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีแผนกโอสถศาลารัฐบาล เป็นแผนกหนึ่งใน 6 แผนก

          พ.ศ. 2459 เปลี่ยนชื่อกรมพยาบาล เป็นกรมประชาภิบาล

          พ.ศ. 2461 เปลี่ยนชื่อกรมประชาภิบาลเป็นกรมสาธารณสุข (รวมกิจการสาธารณสุขที่แยกย้ายกันอยู่หลายกระทรวง ให้มารวมเป็นส่วนราชการเดียวกัน)

          พ.ศ. 2478 ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรมซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงเศรษฐการ ได้พิจารณาเห็นว่าประเทศไทยควรมีโรงงานผลิตยาเองพนื่องจากสมุนไพรและวัตถุดิบในประเทศก็มี และเป็นการป้องกันไม่ให้เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ นอกจากนี้ประเทศเราจะได้มียาสำรองไว้ใช้สำหรับประชาชนในยามคับขันอีกด้วย ดังนั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2482 ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม จึงได้จัดการสร้างโรงงานเภสัชกรรมขึ้น ณ ตำบลพญาไท ในเนื้อที่ประมาณ47 ไร่ ในระยะแรกได้ผลิตยาจำพวกทิงเจอร์ ยาสะกัด ยาเม็ด ยาฉีด ปละโอนเอายาสะกัดวิตามินบีกับการทำยาน้ำมันกระเบา ซึ่งเดิมกองอุตสาหกรรมเคมีทำอยู่มาจัดทำด้วย

          ปลายปี 2483 เนื่องจากทางราชการเห็นว่าโรงงานเภสัชกรรม ดำเนินการในรูปธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมยามากกว่าวิชาการจึงแยกโรงงานเภสัชกรรมออกจากกรมวิทยศาสตร์

          พ.ศ. 2485 รัฐบาลมีนโยาบายที่จะปรับปรุงการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงได้รวบรวมกิจการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งแยกย้ายอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ (ยกเว้นการแพทย์ของทหาร ตำรวจ และกรมรถไฟ) มาตั้งเป็น "กระทรวงสาธารณสุข" โดยโรงงานเภสัชกรรมสังกัดอยู่ในกองเภสัชกรรม และกองโอสถศาลาก็ย้ายมาสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งในขณะนั้นกองโอสถศาลาก็คงยังผลิตยาตำราหลวง ให้แก่หน่วยงานราชการทั่วราชอาณาจักรและดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์ดังนี้คือ
          1. จัดซื้อยา และเวชภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายแก่หน่วยราชการ 
          2. เก็บสะสมยาที่จำเป็นทั้งในเวลาปกติและสำหรับยาฉุกเฉิน 
          3. ควบคุมคุณภาพและราคายา

          พ.ศ. 2487 กองโอสถศาลา ได้มอบหน้าที่การผลิตยาตำราหลวงให้แก่โรงงานเภสัชกรรม โรงงานเภสัชกรรมจึงได้ปรับปรุงรายการยาตำราหลวงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงรวมแล้วทั้งสิ้น 24 ขนาน ส่วนการจำหน่ายนั้นกองโอสถศาลาเป็นผู้รับผิดชอบ

          พ.ศ. 2485 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้โรงงานเภสัชกรรมพ้นจากสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจบริหารงานโดยคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข

ยาโอสถสภา (ยาตำราหลวง)

          ความคิดที่จะทำให้ยาดีสำหรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บแพร่หลายไปถึงมือราษฏรตามชนบทโดยสะดวกทั่วกัน ได้เกิดขึ้นภายหลังที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงย้ายมาจากกระทรวงธรรมการไปเป็นเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยแล้วเกือบ 10 ปี ถึงแม้การทำยารักษาในระยะนั้นจะเป็นหน้าที่ของกรมพยาบาลในสังกัดกระทรวงธรรมการ แต่เนื่องจากการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ราษฎรตามหัวเมือง (ในสมัยนั้นเรียกว่า "การสาธารณพยาบาล") เป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับกระทรวงธรรมการ ไม่มีกำลังพอที่จะดูแลอุดหนุนการอนามัยในหัวเมืองให้บังเกิดผลดีทั่วถึงกันได้ ที่ประชุมเทศาภิบาจึงมอบภาระในเรื่องยารักษาโรคที่จะส่งไปช่วยเหลือราาฎรชนบทนั้นให้กระทรวงมหาดไทยคือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงคิดอ่านดำเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นผลสำเร็จต่อไปด้วยพระองค์ท่านทรงรอบรู้ในเรื่องการอนามัยดีอยู่แล้ว (ด้วยเหตุนี้ในการประชุมเทศาภิบาล ร.ศ. 125 และ ร.ศ.126 (พ.ศ.2449 -2450 ) นั้นเมื่อจะมีการชี้แจงเกี่ยงกับการอนามัยครั้งใด เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกรเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งเป็นเจ้าสังกัดของราชการเกี่ยวกับการแพทย์ในส่วนภูมิภาคในครั้งกระนั้น จึงต้องกราบทูลเชิญเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ทรงชี้แจงพระดำริทุกครั้ง)

          เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรับธุระจะจัดการในเรื่องยารักษาโรคแล้วทรงพิจารณาปัญหาในชั้นแรกว่า ควรจะทำยารักษาโรคอะไรบ้าง ข้อหนึ่ง และยาที่ทำนั้นควรจะใช้ยาตามตำรับยาฝรั่งหรือตำรับไทยอีกข้อหนึ่ง ในที่สุดทรงตัดสินพระทัยที่จะใช้ยาฝรั่ง เพราะมีสรรพคุณชะงัดกว่ายาไทย ทั้งยังสามารถจะบรรจุกลักส่งไปตามที่ต่าง ๆ ได้สะดวกด้วย สมเด็จพรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงเชิญแพทย์ฝรั่งทุกชาติ (ส่วนมากเป็นแพทย์มิชชันนารี) ไปประชุมพร้อมกันที่กระทรวงมหาดไทยวันหนึ่ง ทรงชี้แจงแก่แพทย์ฝรั่งว่า รัฐบาลอยากจะได้ตำรับยาฝรั่งบางขนานสำหรับรักษาโรคที่ราษฎรชนบทมักเป็นกันชุกชุม จึงทรงมีพระประสงค์จะให้แพทย์ฝรั่งเหล่านั้นปรึกษากันว่าควรจะทำยาแก้โรคอะไรบ้าง และขอให้จดเครื่องยากับส่วนผสมให้ด้วย แพทย์ฝรั่งพร้อมกันรับจะช่วยให้ตามประสงค์ของรับบาล เมื่อปรึกษาหารือในระหว่างกันเองแล้ว บรรดาแพทย์ฝรั่งตกลงแนะนำให้รัฐบาลทำยาต่าง ๆ 8 ขนาน และกำหนดเครื่องยากับทั้งส่วนผสมยานั้น ๆ ทุกขนาน มอบตำรับยาให้เป็นสมบัติของรัฐบาลส่วนราชการที่จะทำยานั้น หมออะดัมสัน (พระบำบัดสรรพโรค) เอื้อเฟื้อรับทำให้ขั้นแรก ณ ร้านขายยาของเขาที่สี่กั๊กพระยาศรี โดยขอคิดราคาเพียงเท่าทุน และช่วยฝึกหัดคนที่จะผสมยาให้ด้วยจนกว่ากระทรวงธรรมการจะตั้งสถานที่ทำยาแล้วเสร็จและเปิดทำการได้เอง

ยาโอสถสภา 8 ขนาน ที่ทำขึ้นมีดังนี้ 
          1. ยาแก้ไข้ (ควินิน) 
          2. ยาถ่าย 
          3. ยาแก้ลงห้อง 
          4. ยาแก้โรคไส้เลือน 
          5. ยาแก้โรคบิด 
          6. ยำบำรุงโลหิต 
          7. ยาแก้คุดทะราดและเข้าข้อ 
          8. ยาแก้จุกเสียด (โซดามินท์)

          เนื่องจากยาโอสถสภาที่ทำขึ้นนี้ยังเป็นของใหม่ ราษฎรชนบทไม่ใคร่นิยมใช้กัน ในเวลาต่อมากระทรวงมหาดไทยจึงจัดให้ประชุมแพทย์ไทยจัดหาตำรายาไทย เช่นยาเขียว ยาหอม และยาแก้ไข้ แก้ทองเสีย แล้วลองให้แพทย์ไทยจำหน่ายจากโอสถศาลา ก็ปรากฏว่าจำหน่ายได้ยาก เมื่อกระทรวงธรรมการได้จัดตั้งโอสถศาลารัฐบาลขึ้นที่สะพานนพวงศ์ ตรงข้ามโรเรียนเทพศิรินทร์ (พ.ศ.2444 ) และดำเนินการผลิตยาโอสถสภาได้เองแล้ว ได้ผลิตยาโอสถสภาแผนโบราณออกจำหน่ายด้วย ยาแผนโบราณของโอสถศาลามีหลายขนานเช่นยาธาตุบรรจบ ยาจันทรลีลา ยาสุขไสยาสน์ ยากำลังราชสีห์ ยาหอมอินทรจักร เป็นต้น

          ยาโอสถสภาแผนปัจจุบัน 8 ขนานนั้น ทำเป็นเม็ดบรรจุลักเล็ก ๆ ประมาณกลักละ 20 เม็ด ข้างในหลับมีกระดาษใบปลิว บอกวิธีที่จะใช้ยานั้น แล้วรวมกลักยาห่อเป็นชุด ๆ มีใบปลิวโฆษณาสรรพคุณของยาโอสถสภาสอดไปด้วย ข้อความชี้แจงวิธีใช้นั้น ได้พิมพ์ไว้ทั้งภาษาไทย จีน ลาว มลายู และอังกฤษ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแนะนำให้กระทรงธรรมการใช้กระดาษสีต่าง ๆ ทำเป็นใบชี้แจงวิธีใช้ยาอย่างใดก็ให้ใช้สีนั้นประจำอย่างละสี เพื่อจะได้เป็นที่สังเกตง่าย ใครเคยใช้มาแล้วเห็นแต่กระดาษห่อรู้ได้ทีเดียวว่า เป็นยาแก้โรคอะไร อนึ่ง เพื่อจะให้ยาได้แพร่หลายไปในหมู่ราษฎรชนบทที่ยากจนจึงได้จำหน่ายโดยราคาถูก คือ ขายปลีกเสมอกลักละเฟื้อง ผู้ใดรับเหมาไปจำหน่ายมาก ๆ ยอดขายให้ราคาเพียง 12 กลักบาท คือให้มีส่วนลดถึง 50% ถึงกระนั้นในตอนแรกก็ยังไม่เป็นที่นิยมแก่ราษฎรตามหัวเมือง ด้วยขาดผู้จะชี้แจงสรรพคุณของยาให้ราษฎรนิยมและทดลองใช้ พากันเข้าเสียว่า ยาโอสถสภาเป็นยาสูง ถ้าใช้ยานี้แล้วโรคไม่หายจะใช้ยาอื่นไม่ได้ แม้แพทย์ประจำตำบลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ที่จะชี้แจงกับราษฎรก็ยังมีบางคนเข้าใจผิดอยู่เช่นนั้นที่รับยาไปจำหน่ายมักจะรับไปเพราะคามเกรงใจ รับเอาไว้เกือบปีแล้วนำยามาคืนก็มี บางคนที่เกรงใจไม่นำมาคืน ทิ้งไว้ให้ขึ้นราอยู่ที่บ้าน ยอมขาดทุนก็มีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทราบความขัดข้องก็ได้ทรงพยายามหาทางแก้ไขด้วยอุบายต่าง ๆ เช่นเปิดดวงเงินเชื่อ 1,000 บาท ให้แพทย์หลวงรับไปจำหน่าย ยาที่เสียยอมให้ส่งคืนได้ให้แพทย์ที่ออกทำการปลูกฝีนำยาโอสถสภาออกไปเผยแพร่ด้วย ฯลฯ ในที่สุดราษฎรชนบทที่ลองใช้ยาโอสถสภาก็เห็นคุณของยามากขึ้นโดยลำดับ แพทย์ประจำตำบลบางคนลองเสี่ยงนำออกใช้ดู ครั้นเห็นว่ายาโอสถสภามีสรรพคุณรักษาโรคให้หายได้ชะงัดกว่ายาสมุนไพร ก็เกิดความเชื่อถือ ยาโอสถสภาจึงค่อยแพร่หลายไปในชนบทดังจะเห็นได้จากสถิติการจำหน่าย ดังต่อไปนี้
          พ.ศ. 2449 จำหน่ายได้ 19,743 ตลับ 
          พ.ศ. 2450 จำหน่ายได้ 80,082 ตลับ 
          พ.ศ. 2451 จำหน่ายได้ 112,596 ตลับ

          ยาโอสถสภาหรือยาตำราหลวงแผนปัจจุบัน คงทำขึ้นเพียง 8 ขนาน ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2464 รองอำมาตย์โทขุนยำราศนราดูรแพทย์ประจำจังหวัดลพบุรี ในขณะนั้น ได้เสนอความเห็นไปยัง พระพิศณุโลกบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี (ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยานครพระราม) ความว่า "….ยาโอสถศาลา (ภายหลังเรียกว่า ยาตำราหลวง) ที่รัฐบาลทำจำหน่ายเพื่อเป็นการสงเคราะห์ราษฎรในเวลานี้มีเพียง 8 ขนานเท่านั้น โรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ซึ่งราษฎรตามบ้านนอกเป็นกันชุกชุมแลควรจะบำบัดเสียในขั้นต้นยังมีอีกมากแลราษฎรตามบ้านนอกนั้นย่อมหายาดี ๆ ใช้ยากแลแพทย์ที่จะช่วยบำบัดก็ไม่มี เห็นว่าควรมียาโอสถสภาชนิดอื่นเพิ่มขึ้นอีกบ้างตามโรคซึ่งราษฎรเป็นกันชุกชุม เพื่อเป็นการสงเคราะห์ราษฎรช่วยป้องกันหรือบำบัดเสียในขั้นแรก…" และได้เสนอรายชื่อยาที่ควรเพิ่มไปยังกรมสาธารณสุขด้วย กรมสาธารณสุขเห็นชอบด้วยกับความคิดนั้นจึงได้ให้โอสถศาลา รัฐบาลทำการผลิตยาตำราหลวงเพิ่มขึ้นเป็น 25 ขนาน ครั้นต่อมาเมื่อโรงงานเภสัชกรรมกระทรวงสาธารณสุขรับหน้าที่ผลิตยาตำราหลวงสืบต่อจากกองโอสถศาลา รัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ.2487 ก็ได้เพิ่มยาตำราหลวงขึ้นอีก 4 ขนาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2503-2504 ได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งเพิ่มและลดยาบางขนาน

          ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติ ยาสามัญประจำบ้าน พ.ศ. 2536 ประกาศให้มียาสามัญประจำบ้าน จำนวน 42 รายการ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมผลิตออกจำหน่ายทุกกลุ่มยา ในชื่อยาตำราหลวง จำนวน 37 รายการ ในปี 2542 กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุง ประกาศเรื่องยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันระบุให้มียาสามัญประจำบ้าน จำนวน 53 รายการ องค์การเภสัชกรรมผลิตออกจำหน่าย 21 รายการ และผลิตยาตำราหลวงชุด 7 รายการ และจัดชุดยาตำราหลวงเวชภัณฑ์ประจำรถ First Fid Kid รวมด้วย