องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

วิวัฒนาการยาไทย

20 เมษายน 2566
ขนาดตัวอักษร

วิวัฒนาการเกี่ยวกับยาไทย

          ความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นสิ่งธรรมดาของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า และเมื่อมีความเจ็บป่วยมนุษย์ก็ต้องพยายามหาทางแก้ไข บำบัด เพื่อความอยู่รอด มีประวัติที่อ้างอิงได้ว่า มนุษย์เรารู้จักเก็บตัวยาจากพืชมารักษาความเจ็บไข้นับเป็นเวลา ก่อนคริสตกาล ประมาณ3,600 ปี และก็ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับแต่ละยุคแต่ละสมัย เพื่อให้มีผลต่อการรักษา มีรูปร่าง กลิ่น รส เมาะสมแก่การใช้ในการรักษาโรค

          สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ก่อนจะมาถึงปัจจุบันและกว่าจะมาถึงการที่องค์การเภสัชกรรมมีบทบาท ในการผลิตยาอยู่ในขณะนี้นั้น ก็ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ โดยบรรพชนของเราได้ช่วยกันสร้างสมบารมี ลงแรงกายใจตลอดมา ทุกยุค ทุกสมัย สมควรอย่างยิ่งที่ผู้ที่ถือประโยชน์ในปัจจุบัน จะได้รับรู้ความเป็นมาและทราบถึงความเพียรพยายามของบรรพบุรุษเราว่า ได้ทำอะไรไว้ในเรื่องยาบ้างจนเป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเราในปัจจุบันนี้

ยาไทยสมัยอยุธยา

          ยาและการรักษาโรค มีวิวัฒนาการควบคู่มากับวิชาแพทย์ไทย พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ซึ่งเป็นคณะกรรมการท่านหนึ่งในการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช เมื่อ100 ปีเศษ มาแล้วได้ทรงนิพนธ์เรื่อง "แพทย์หมอ" สรุปได้ว่าวิชาแพทย์ (มักเรียกว่า "หมอแพทย์" เพราะ "หมอ" คำเดิม แปลว่า ผู้ชำนาญ) ได้แพร่หลายในเมืองไทยมาช้านานแล้ว โดยได้รับมาจากชาวมคธ หรือฮินดู ยาแก้โรคต่าง ๆ ก็ได้จากการสังเกตและแก้ไขทดลองของคนโบราณจนตั้งเป็นตำราได้ว่า เมื่อเกิดเป็นโรค ไม่สบาย อย่างไร จะกินจะทาอะไรจึงจะหาย และเพื่อให้บรรดาหยูกยาต่าง ๆ ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น จึงมักจะอ้างว่าเป็นตำราที่เทวดา หรือฤาษีมอบให้

          แม้ว่า ตั้งแต่โบราณมาจนกระทั่งถึงสมัยอยุธยา ในเมืองไทยนั้นมีชาวต่างประเทศจากใกล้เคียงได้เดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และทำมาหากินอยู่มากมายหลายชาติ นอกจากชาวจีนแล้ว ยังมีชาวอินเดีย มลายู อินโดนิเซีย มอญ พม่า ญี่ปุ่น เป็นต้น ชนเหล่านี้ย่อมจะมีหมอของตนเข้ามาด้วย ซึ่งก็มีวิธีการรักษาพยาบาลตามแบบอย่างของเขา แต่ทั้ง ๆ ที่วิธีการรักษาโรคของชนชาติของถิ่นเอเซียเหล่านี้ ไม่แตกต่างกันนัก แต่พวกหมอของแต่ละชาติ (รวมทั้งของไทยเราด้วย) มักจะถือตัว ถือตำรา และครู ไม่ลอกเอาแบบของหมอชาติอื่นมาใช้ปนกับวิธีรักษาของตน ซึ่งเป็นเหตุให้หมอแผนโบราณของไทย เก็บรักษาวัฒนธรรมในการรักษาพยาบาลดั้งเดิมที่ได้มีต้นตอมาจากอินเดียไว้ได้ ไม่ใคร่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าจะมีบ้างก็น้อยมาก เป็นเช่นนี้กระทั่งมีชาวยุโรปได้ทะยอยเดินทางด้วยเรือสำเภา เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา เริ่มตั้งแต่ชาวโปรตุเกส เข้ามาใน พ.ศ. 2054 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2

          การแพทย์แผนโบราณถือว่าพืชทุกอย่างมีสรรพคุณเป็นยาทั้งนั้น พืชที่หมอไทยแผนโบราณนำมาใช้ทำยานี้ มักจะเรียกรวม ๆ ว่า "เครื่องสมุนไพร" อาจจะใช้ส่วนใดหรือทุกส่วน นับแต่ราก เปลือก แก่น ใบ ดอก ผล และยาง ทั้งที่เป็นพืชในเมืองไทยและพืชที่มาจากต่างประเทศ

          ลาลูแบร์ อัครราชฑูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2271 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงสภาพของหมอไทย สมัยนั้นว่า ไม่พยายามที่จะศึกษาสรรพคุณของตัวยาแต่ละชนิด นอกจากจะถือเอาตามตำรา ที่ปู่ย่าตายายสั่งสอนกันต่อ ๆ มาเท่า นั้น และกล่าวด้วยว่า หมอในเมืองไทยขณะนั้น เหมือนหมอบ้านนอก ของฝรั่งเศส คือเป็นทั้งหมอและเป็นเภสัชกรไปด้วย

ร้านขายยาสมัยอยุธยา

          จากหนังสือ "คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม" ได้กล่าวว่า ในปลายสมัยอยุธยาบนตัวเกาะกรุงศรีอยุธยา มีร้านขายเครื่องสมุนไพรให้แก่ชาวบ้านทั่วไป "ถนนย่านป่ายา มีร้านขายเครื่องเทศ เครื่องไทยครบสรรพคุณยาทุกสิ่ง ชื่อตลาดป่ายา" และในหนังสือ อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา กับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ฉบับชำระครั้งที่ 2 ได้กล่าวถึงย่านและตลาดต่าง ๆ ในกำแพงพระนครศรีอยุธยา ตอนหนึ่งว่า "ย่านป่ายาขายสรรพเครื่องเทศ เครื่องไทย เป็นสรรพคุณยาทุกสิ่ง " ทั้งยังมีถนนหลวงสายหนึ่งเรียกว่าถนนป่ายา

          นอกจากนั้น คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ฉบับเดียวกันยังได้กล่าวถึง โรงนำยาหลวงซึ่งเรียกว่า "โรงพระโอสถ" อยู่ไม่น้อยกว่า 2 โรงว่า "นอกประตูไพชยนต์นี้ มีโรงพรโอสถฯ" และ "มีโรงพระโอสถตั้งอยู่หน้าสวนองุ่น" โรงพระโอสถหลวงนี้ นอกจากจะปรุงยาใช้ในพระราชวังแล้ว ยังเตรียมทำยาสำหรับใช้ในกองทัพ เมื่อออกไปทำสงครามด้วย

ยาไทยสมัยรัตนโกสินทร์

          เนื่องจากการแพทย์ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จกกระพุทธยอดฟ้ามหาราช เป็นการแพทย์แผนเดิมสืบต่อมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นยาที่ใช้ก็คงใช้สมุนไพรและซากสัตว์ วัตถุธาตุ เป็นวัตถุในการปรุงยาเหมือนเดิม ในรัชสมัยนี้ได้ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัดโพธาราม ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระเชตุพนวิมลมัคลารามและทรงโปรดให้ "ตั้งตำรายา และฤษีดัดตนไว้เป็นทาน…." นับเป็นจุดแรกของการรวบรวมตำรายาเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเสิศหล้านภาลัย มีพระราชโองการโปรดเกล้าให้พระพงศ์นรินทร์ราชนิกูล กระโอรสของพระบาทสมเก็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเวลานั้น รับราชการอยู่กรมหมอ เป็นผู้สืบเสาะหาตำรายารักษาโรคทั้งหลายจากพระราชา คณะข้าราชการ ตลอดจนราษฎร ผู้ใดมีตำราดีขอให้จดมาถวาย ครั้งนั้นมีผู้จัดตำรายาถวายเป็นจำนวนหลายฉบับด้วยกัน หมอหลวงได้ตรวจสอบและจดลงเป็นตำราไว้

          ในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีพระราชโองการให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเซตุพนฯอีก และทรงสนพระทัยในการแพทย์ และทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงโปรดเกล้าฯให้รวบรวม เลือกสรรตำราต่าง ๆ ที่สมควรจะเรียนมาตรวจแก้ไข ใช้ของเดิมบ้างประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้น ๆ ให้แต่งขึ้นใหม่บ้างแล้วโปรดให้จาลึกแผ่นศิลา ประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ

          ประมาณ พ.ศ.2371 (ค.ศ.1828) อันเป็นปีที่ 5 ในรัชกาลที่ 3 การแพทย์แผนปัจจุบันได้เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์ โดยมีวิวัฒนาการอย่างมั่นคงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้โดยการนำมาของคณะเผยแพร่ศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสเตนท์ ของอเมริกัน

          การแพทย์ของไทยในยุคนี้ เป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างการแพทย์แผนโบราณและแผนปัจจุบัน โดยการแพทย์แผนปัจจุบันได้วิวัฒนาการแทรกซึมการแพทย์แผนโบราณทีละเล็กละน้อยอย่างเชื่องช้าแต่มั่นคง จนถึง พ.ศ.2431 อันเป็นปีที่ 21 ในแผ่นดินสมเด็จพระปิยะมหาราช รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างศิริราชพยาบาล และตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น นับเป็นปีแรกเริ่มศักราชของการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

          การเริ่มต้นของโรงเรียนแพทย์ยังยึดหลักผสมผสานแผนโบราณเข้ากับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยถ้าเป็นการรักษาทางยา ใช้ครูแผนโบราณ แต่การรักษาบาดแผล การผ่าตัดใช้แผนปัจจุบัน ซึ่งมีฝรั่งเป็นผู้สอน

          คนไทยได้รับอิทธิพลของการแพทย์ตะวันตกมากขึ้นทุกที ๆ แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ไว้ใจเมื่อเริ่มสร้างศิริราชพยาบาลและตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นแล้ว ก็ยังมีผู้นิยมการแพทย์ไทยมากกว่าฝรั่ง คนที่กล้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมีเพียงจำนวนน้อย ส่วนมากกลัวหมอฝรั่ง ทางการต้องออกอุบายต่าง ๆ เพื่อชักชวนคนไข้ให้ไปโรงพยาบาล เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าให้ตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์ขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช ทางการต้องประกาศให้เงินแก่ผู้ที่ไปคลอดบุตร และยังแถมเบาะและผ้าอ้อมให้อีกด้วย วิธีการเหล่านั้น ผสมกับความเพียรพยายามของผู้ใหญ่ในวงการแพทย์และการศึกษา ทำให้ประชาชนค่อย ๆ เชื่อมใจในคุณประโยชน์ของการแพทย์แบบใหม่มากขึ้น ความสำเร็จของพระบรมราชชนกฯ(เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช สมเด็จพระราชบิดา) ในการชัดจูงให้มูลนิธิร็อคคิเฟลเลอร์ รับช่วยปรับปรุง โรงเรียนแพทย์ให้ทันสมัยและยกระดับถึงขั้นปริญญา ทำให้มีบัณฑิตออกไปช่วยบำบัดโรคภัยให้แก่ประชาชนอย่างได้ผลประจักษ์ความเชื่อของประชาชนจึงเปลี่ยนแปลงไป การค้นพบแอนติไอโอติคในระหว่างสงครามโลกและการแพร่กระจายของยาสมัยใหม่ในชนบททำให้การแพทย์แบบไทยต้องพ่ายแพ้แก่การแพทย์แบบตะวันตกอย่างเด็ดขาด

ข้อมูลโดย กองประชาสัมพันธ์