องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

ทิศทาง อภ. สู่ความร่วมมือขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์

21 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

        “องค์การเภสัชกรรม ไม่ได้เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่ทำการปลูก ผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่เรายังมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเน้นประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ป่วยมากที่สุด” นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.)

 

        นพ.วิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่องค์การเภสัชกรรมเริ่มการปลูกกัญชาในโรงเรือนระบบปิดตามแผนการดำเนินงานโครงการระยะที่ 1 จนมีการเก็บเกี่ยวและเตรียมสกัดน้ำมันกัญชาออกมาเป็นยาให้เร็วที่สุด  จากนั้นองค์การเภสัชกรรม จะเริ่มเข้าสู่โครงการระยะที่ 2 ด้วยการขยายพื้นที่ปลูกเดิม 100 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า ซึ่งเป็นพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรมเอง  และจะเริ่มมีการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์เพื่อปลูกกลางแจ้งด้วย โดยเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ อย่างกรมการแพทย์ที่ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา จะร่วมกันปลูกอีกประมาณ 100,000 ต้น ซึ่งจะมีการพูดคุยในรายละเอียดว่า จะเริ่มต้นปลูกได้เมื่อไหร่

        ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรมยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งจะมีความร่วมมือกับอีกหลายแห่งเพิ่มขึ้น  โดยทุกความร่วมมือเพื่อให้ได้ต้นกัญชา รวมทั้งน้ำมันกัญชาออกมาเป็นยาที่ได้มาตรฐานเมดิคัลเกรด ปราศจากโรค ปลอดสารโลหะหนัก ปลอดสิ่งปนเปื้อน สิ่งตกค้างต่างๆ เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานก็จะไปสู่สเต็ปความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน

        “องค์การเภสัชกรรมทำงานมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือเป็นหลัก ซึ่งเราไม่ทำงานอยู่เพียงองค์กรเดียว ไม่ได้มีการผูกขาดใดๆ เพราะกฎหมายก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้  องค์การฯ จับมือกับมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปลูกโดยตรง และเมื่อเราได้ความรู้เกี่ยวกับการปลูก การเลี้ยงให้รอดในสายพันธุ์ที่เราต้องการ จนนำไปสู่การปลูกแบบกรีนเฮ้าส์ (Greenhouse)  เบื้องต้นจะเริ่มที่ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา    จากนั้นเมื่อได้ความรู้ตรงนี้ มีสายพันธุ์ที่ปลูกกลางแจ้งได้ เราก็จะขยายไปสู่ความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน  คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2563” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

        เมื่อถามถึงประเด็นที่หลายคนอาจห่วงว่า เมื่อผลิตน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ออกมาแล้ว อภ.จะทำหน้าที่แค่ปลูก ผลิตสารสกัดกัญชาเมดิคัลเกรดเพียงอย่างเดียว หรือจะมีการติดตามผลข้างเคียงจากการใช้งานด้วยหรือไม่ นพ.วิฑูรย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า  มีแน่นอน องค์การฯ มีระบบ Tracking เป็นระบบติดตามครบวงจร อย่างการกระจายสินค้าไปยังสถานพยาบาลต่างๆ จะมีการติดตามข้อมูลทั้งหมดว่า เมื่อส่งผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ไปแล้ว แพทย์นำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยมีรายงานผลข้างเคียง หรือประสิทธิภาพอย่างไร ทุกขวดที่ส่งไปมีระบบติดตามทั้งหมด ซึ่งตรงนี้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติข้อมูลสารสนเทศที่ดี  หรือมาตรฐาน GIP (Good Information Practices)

        “จริงๆในเรื่องของความร่วมมือเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ เรายินดีรับฟังข้อเสนอแนะทุกภาคส่วน  แต่ในช่วงแรกเราจะพยายามร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐเป็นสเต็ปแรกก่อน  เบื้องต้นก็ต้องปลูกเป็นการทดลอง เพราะช่วงแรกในประเทศไทยไม่เคยมีใครปลูกกัญชาขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีมาตรฐาน อย่างช่วงแรกต้องปลูกในโรงเรือนระบบปิด มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็เพราะเราต้องการผลิตออกมาเป็นยา ทุกอย่างต้องควบคุมให้ปลอดเชื้อโรค ปลอดสารโลหะหนัก ปลอดการปนเปื้อน และการผลิตก็ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ได้สารสกัดที่ออกมาทุกล็อตการผลิตมีสารสำคัญที่สม่ำเสมอ ทุกอย่างก็เพื่อให้เป็นเมดิคัลเกรด ที่เป็นยาได้” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าว

        ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงทิศทางเรื่องกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้กันมาก อย่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็เป็นอีกหน่วยงาน ในหลายหน่วยงานที่มีการดำเนินการเรื่องนี้ อย่างโครงการระยะแรกของ อภ. ในการดำเนินการปลูกกัญชาในโรงเรือนระบบปิด เพื่อเป็นกัญชาเมดิคัลเกรด นับเป็นการดำเนินการที่ดีมาก และเป็นเรื่องดีที่ อภ.เตรียมแผนที่จะร่วมมือกับเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งตรงนี้อยากให้มีหลักเกณฑ์ออกมาให้ชัดเจนเน้นความร่วมมือของทุกฝ่าย