องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

ทิศทางการพัฒนาสูตรตำรับใหม่ “สารสกัดกัญชาทางการแพทย์”

21 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

        “ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม พัฒนากัญชาเมดิคัลเกรดอยู่ 3 สูตร แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นสูตรอื่นๆ อีก..”  ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวขึ้นเมื่อถูกถามถึงแนวทางการพัฒนากัญชาเมดิคัลเกรดสูตรใหม่

 

        ดร.ภญ.นันทกาญจน์ อธิบายว่า ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมมีกัญชาเมดิคัลอยู่ 3 สูตร คือ สูตรที่มีสารทีเอชซี(THC)สูง สูตรที่มีสารซีบีดี(CBD) สูง และสูตรทีเอชซีและซีบีดีในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ซึ่งการที่องค์การฯพัฒนา 3 สูตรดังกล่าวก่อน  สืบเนื่องจากคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่มีนพ.โสภณ เมฆธน เป็นประธานฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานต่างๆ ซึ่งกรมการแพทย์ได้รับมอบให้พิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์ทางกัญชา โดยไม่ได้ดูที่ตัวกัญชา แต่ให้ดูที่สารสำคัญ อย่างทีเอชซี มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท    ส่วนซีบีดี ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท รักษาพวกไมเกรน ลมชักได้ดี ต้องมีปริมาณเท่าไหร่จึงจะใช้กับโรคอะไร โดยต้องมีผลวิจัยรองรับว่าเหมาะกับโรคนั้นๆ จึงเป็นที่มาของ 3 สูตร คือ ทีเอชซีสูง ซีบีดีสูง  และอัตราส่วน 1 ต่อ 1

 

 

        “สารทีเอชซี จะช่วยเรื่องอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง ส่วนสารซีบีดีแก้อาการปวด แข็งเกร็ง ช่วยระบบประสาท แต่การใช้แบบเดี่ยวๆ อาจไม่ดีมาก ต้องมีการผสมในอัตราส่วนที่เหมาะสม และสูตรทีเอชซีและซีบีดี 1 ต่อ 1 นั้นก็จะใช้เบื้องต้นในกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือระยะประคับประคอง ที่เรียกว่า  Palliative care รวมทั้งในกลุ่มอาการทางระบบประสาท ซึ่ง 3 สูตรนี้จะเป็นสูตรสแตนดาร์ท แต่เราได้เตรียมพร้อมในการพัฒนาสายพันธุ์อื่นๆ เพื่อให้ได้สูตรสารสกัดกัญชาใหม่ๆ  โดยองค์การเภสัชกรรม ได้ลงนามความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ในการพัฒนาสายพันธุ์ไทยโดยเฉพาะ  หากทำได้โดยปราศจากสารปนเปื้อนและเข้าเงื่อนไขของเมดิคัลก็จะทำมาพัฒนาเป็นสูตรใหม่เพิ่มเติมจาก 3 สูตรเดิม เพื่อให้สมารถนำมาใช้กับโรคและอาการต่างๆได้หลากหลาย”                ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว

 

        เมื่อถามว่า การพัฒนาสายพันธุ์ไทยจำเป็นต้องกำหนดสารทีเอชซีต่ำกว่ากี่เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า ไม่จำเป็น เนื่องจากองค์การเภสัชกรรม ไม่ได้ทำออกมาเป็นกัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp)  แต่เราเน้นทำยา เพราะหากทำเป็นเฮมพ์ เหมือนต่างประเทศก็จะออกมาในรูปผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งจะถูกกำหนดว่า  สารทีเอชซีต้องต่ำกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ขององค์การเภสัชกรรม  ผลิตออกมาเป็นยา จึงไม่ต้องกำหนดเช่นนั้น

  

 

        ส่วนสายพันธุ์กัญชาที่จะพัฒนาใหม่นั้น จะเป็นสายพันธุ์ไทยหรือลูกผสม ดร.ภญ.นันทกาญจน์ ให้ข้อมูลว่า สำหรับการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้สารสกัดกัญชาสูตรใหม่ นอกเหนือจาก 3 สูตรเดิม จะเป็นการใช้สายพันธุ์ไทย เพราะ 3 สายพันธุ์แรกเป็นลูกผสมต่างประเทศแล้ว  ดังนั้น จึงวางเป้าหมายในการพัฒนาสายพันธุ์ไทยให้เหมาะสมในการนำมาใช้ทางการแพทย์  และปรับปรุงสายพันธุ์ที่สามารถระบุได้ว่า นี่เป็นสายพันธุ์ที่มีซีบีดีสูง รวมทั้งทนทานต่อภาวะภูมิอากาศ ทนต่อโรคพืช เพื่อที่จะสามารถนำมาปลูกกลางแจ้งได้ในอนาคต

        ขณะเดียวกันหากได้สูตรยากัญชาใหม่ๆเพิ่มเติม ยังสามารถนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น  โดยร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ล่าสุดองค์การเภสัชกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งแผ่นแปะซึมผ่านผิวหนัง ยาเหน็บทวารหนัก และแผ่นฟิล์มเกาะติดเนื้อเยื่อในช่องปาก จะทำให้ผู้ป่วยและแพทย์นำไปใช้ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิผลในการรักษายิ่งขึ้น