GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

Login to Product information center

ติดตามการวิจัยสารสกัด ‘กัญชาเมดิคัลเกรด’ ต่อภาวะปวดประสาท

March 29 2024
ขนาดตัวอักษร

    ภาวะปวดประสาท เป็น 1 ใน 4 โรค/ภาวะ ที่ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดอยู่ในกลุ่มโรคหรือภาวะที่สารสกัดจากกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน ซึ่ง 4 โรคดังกล่าวประกอบด้วย  1. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา 2. ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล 3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และ4. ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผล

   หลายคนสงสัยว่า ภาวะปวดประสาทเป็นอย่างไร และการนำสารสกัดกัญชาเมดิคัลเกรดมาใช้ในภาวะนี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

           พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า ภาวะปวดประสาท จัดเป็นหนึ่งในโรคที่สถาบันประสาทพิจารณาว่าจะมีการนำเอายากัญชามาศึกษาวิจัยต่อว่า จะมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดหรือไม่ เนื่องจากมีการศึกษาก่อนหน้านี้ว่าน้ำมันกัญชา อาจใช้ได้ในผู้ป่วยปวดประสาทจากพยาธิสภาพของระบบประสาทส่วนกลาง

          ทางสถาบันประสาทวิทยา จึงได้มีการศึกษาในโรคปวดประสาทใบหน้า จากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งใช้วิธีการรักษาอื่นๆ ไม่ได้ผล โดยสถาบันฯ วางแผนว่าจะเป็นการศึกษาเชิงทดลอง (Double blind randomize control trial) มีทั้งคนที่ได้ยาจริง และคนที่ได้ยาหลอก ทั้งผู้วิจัยและผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวใดจริง ตัวใดหลอก เพื่อวัดประสิทธิภาพว่ากลุ่มที่ได้ยาจริงนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร โดยใช้กลุ่มตัวอย่างที่สถาบันประสาทวิทยา เป็นผู้เลือกเองตามข้อบ่งชี้ของแผนการวิจัย เบื้องต้น คือ มีอายุ 21 ปี ขึ้นไป มีการให้ลงชื่อในใบยินยอมการเข้าสู่กระบวนการวิจัย มีพยานทั้งแพทย์ และญาติ หากเกิดปัญหาผู้ป่วยสามารถถอนตัวได้ทุกเมื่อ และคาดว่าน่าจะเริ่มได้ในเดือนกรกฎาคม พร้อมกับการวิจัยตัวอื่นๆ หลังจากที่ได้น้ำมันกัญชาจากองค์การเภสัชกรรมแล้ว

รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การปวดเส้นประสาทส่วนปลาย จะมีความเป็นได้ ทั้งอาการปวดปลายมือปลายเท้า หรือแสบร้อนปลายมือปลายเท้า ส่วนการปวดประสาทใบหน้า ที่เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งรับความรู้สึกที่บริเวณใบหน้าเกิดการอักเสบและปวดขึ้นมา หลายรายต้องรับประทานยาแก้ปวด ส่วนใหญ่ใช้ยากันชักมาควบคุม แต่บางรายใช้ยาหลายตัวแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ยังคงมีอาการปวดอยู่ตลอด โดยผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนปวดฟัน แต่พอตรวจฟันแล้วปกติดีทุกอย่าง สำหรับบริเวณที่ปวด ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งบริเวณหน้าผาก แก้ม กรามบน และกรามล่าง แต่ที่พบบ่อยมักเป็นชนิดที่อยู่ตรงกรามบนกรามล่าง ส่วนหน้าผากพบน้อย

          พญ.ทัศนีย์  ยังให้ความรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดของประสาทใบหน้า ว่า เชื่อว่าเกิดจากหลอดเลือดในสมองเราบริเวณก้านสมอง ที่เวลาคนเราอายุมากขึ้นหลอดเลือดจะเกิดการคดเคี้ยว และอาจไปกดหรือสัมผัสกับตรงบริเวณที่เส้นประสาทออกมาพอดี ซึ่งโดยธรรมชาติของเส้นเลือดจะมีลักษณะการหดและคลายตัวตลอดเวลา เมื่อไปแตะถูกเส้นประสาทก็จะเกิดการสปาร์คไฟ และทำให้เกิดอาการปวดได้ ส่วนใหญ่จะควบคุมด้วยการให้ยาควบคุมอาการปวด ซึ่งจะควบคุมได้ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือพบว่ามีการรับประทานยาหลายชนิดแล้วไม่ได้ผล จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อแยกหลอดเลือดที่ไปแตะบริเวณนั้นออก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาด ทำให้เส้นเลือดฉีกขาด เลือดออกมาก หรือเสี่ยงไปแตะถูกเส้นประสาทจนเกิดความเสียหาย กลายเป็นว่าการผ่าตัดช่วยให้หายปวด แต่กลับทำให้มีอาการชาหน้าแทน ดังนั้น การผ่าตัดจึงจัดอยู่ในการรักษาอันดับท้ายๆ กรณีรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล