องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

ต่อยอดงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วย

21 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

     ตามที่องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เดินหน้าปลูกกัญชาเมดิคัล เกรด ซึ่งเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ ที่จะนำมาใช้เป็นยา โดยยึดหลัก  ต้องปลอดภัย (Safety)  ทุกขวดที่สกัดออกมาต้องมีสารมีฤทธิ์ของยาที่ใกล้เคียงกันหมด (Consistency)  และ ต้องมีประสิทธิภาพ (Efficacy)  เพื่อสกัดเป็นน้ำมันกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยคาดว่าจะดำเนินการผลิตออกมาล็อตแรกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2562 ที่จะถึงนี้

       อย่างไรก็ตาม องค์การเภสัชกรรม ไม่ได้แค่ขออนุญาตตามกฎหมายในการปลูกและผลิตน้ำมันกัญชาเมดิคัล เกรด เท่านั้น แต่ในเรื่องของการวิจัยพัฒนากัญชาทางการแพทย์ ก็เป็นอีกหนึ่งพันธกิจขององค์การเภสัชกรรมเช่นกัน

         นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. ให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าว ว่า หลังจากองค์การเภสัชกรรม ได้เดินหน้าโครงการปลูกต้นกัญชาในโรงเรือนระบบปิด เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา  กระทั่งออกดอก และจะสามารถเก็บเกี่ยว เพื่อนำมาทำเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2562  โดยจะสกัดเป็นน้ำมันกัญชาแบบหยดใต้ลิ้น ขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 2,500 ขวด  ซึ่งจะผลิต 3 สูตร คือ สูตรที่ 1  คือ THC สูงกว่า CBD สูตรที่ 2 คือ CBD สูงกว่า THC และสูตรที่ 3 คือ สัดส่วน THC และ CBD 1 ต่อ 1

      โดยทั้ง 3 สูตรดังกล่าว จะนำมาในการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ เพื่อรักษาโรค 3 กลุ่มเป็นหลัก ดังนี้

      กลุ่มแรก  กลุ่มโรคที่สารสกัดกัญชาได้ประโยชน์ในการรักษา ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจนมี 4 โรค  คือ 1.ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด  2.โรคลมชักที่รักษายาก 3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และ4.ภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

     กลุ่มที่สอง   กลุ่มสารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ ซึ่งควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนหรือวิจัยเพิ่มเติม อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์  และ โรคปลอกประสาทอักเสบ เป็นต้น

     กลุ่มที่สาม  กลุ่มสารสกัดกัญชาอาจมีประโยชน์ในการรักษา แต่ยังขาดข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจน  เช่น การรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

         นพ.วิฑูรย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า แนวทางการศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรมนั้น จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากที่ระยะแรกผลิตเป็นสารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แบบยาพ่น แผ่นแปะ หรือแคปซูลเจลต่อไปในอนาคต

        รวมถึงมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาสายพันธุ์ไทย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย เนื่องจากปัจจุบันต่างประเทศมีการปรับปรุงสายพันธุ์กัญชาจนสามารถนำมาพัฒนาเป็นสูตรยาในการรักษาบางโรคแล้ว 

        ที่สำคัญ อภ.จะมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในการศึกษาวิจัยร่วมกันเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น ร่วมกับกรมการแพทย์ในการศึกษาวิจัยการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ระดับคลินิก ซึ่ง กรมการแพทย์เป็นเจ้าภาพหลักที่จะทำร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ จะเร่งผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาให้รวดเร็ว แต่มีคุณภาพ โดยจะร่วมมือเรื่องการปลูกกัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์กับหลายหน่วยงานในเร็วๆนี้ เพื่อให้ได้ปริมาณวัตถุดิบกัญชาที่มากเพียงพอในการผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ รองรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งเบื้องต้นมีการประมาณการณ์ทางสถิติน่าจะมีหลักแสนคน