องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

แนวทางการศึกษาวิจัยสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ‘สถาบันมะเร็งแห่งชาติ’

20 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

          “การใช้สารสกัดกัญชามาช่วยควบคุมอาการข้างเคียงของการใช้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งนั้น ในต่างประเทศใช้กันมานานแล้ว มีผลการศึกษาชัดเจน เพียงแต่ของประเทศไทยจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดไม่มากนัก เพราะบางครั้งคนไข้ที่มีอาการข้างเคียงต่างๆ อย่างรับประทานอาหารไม่ได้ ก็ไม่ได้มีสาเหตุจากยาเคมีบำบัด แต่อาจมาจากลำไส้อุดตัน ดังนั้น การใช้สารสกัดกัญชาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง จะไม่ได้มุ่งแค่การควบคุมอาการข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัดเท่านั้น แต่จะมีการศึกษาวิจัยอื่นๆ ด้วย”

          นพ. วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงโอกาสของการใช้สารสกัดกัญชาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง พร้อมอธิบายเพิ่มเติม ว่า หลังจากเกิดความร่วมมือระหว่างองค์การเภสัชกรรมและกรมการแพทย์ ในการนำสารสกัดกัญชาเมดิคัล เกรดมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขนั้น ในส่วนของการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จะมีด้วยกัน 3 ส่วนหลักๆ คือ

         

          ส่วนที่ 1 การวิจัยระดับเซลล์มะเร็ง เป็นการศึกษาเรื่องการตอบสนองว่า เซลล์มะเร็งในอวัยวะต่างๆ และในแต่ละอวัยวะมีเซลล์มะเร็งย่อยๆ ตัวไหน ที่ตอบสนองต่อสารสกัดกัญชาสัดส่วนเท่าไหร่ อย่างไร

          ส่วนที่ 2 หลังจากผลการศึกษาจากการวิจัยระดับเซลล์ทดลองเบื้องต้น ก็จะนำผลที่มีการตอบสนอง มาสู่การวิจัยในระดับสัตว์ทดลอง โดยจะทดลองในหนู ซึ่งจะนำเซลล์มะเร็งมาใส่ไว้ในหนู และศึกษาว่า หลังจากให้สารสกัดจากกัญชา ตามที่ได้มีการศึกษาระดับเซลล์ว่า ยังได้ผลลัพธ์เหมือนกันหรือไม่ จากการทดลองนี้จะทำให้ทราบเบื้องต้นว่า เซลล์มะเร็งชนิดไหนมีผลเป็นอย่างไร และความเข้มข้นของน้ำมันกัญชาต้องใช้สัดส่วนแค่ไหนจึงจะได้ผลต่อการรักษา เป็นต้น

          ส่วนที่ 3 หลังจากการศึกษาข้างต้นแล้ว ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการวิจัยตามขั้นตอนการศึกษาวิจัยทั่วไป โดยจะต้องมีขั้นตอน มีกระบวนการระดับคลินิก ทำเหมือนการวิจัยในยา ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานเป็นสิบปี

   “เราไม่ได้มุ่งแค่การวิจัยที่ต้องใช้เวลานาน แต่เรายังมีงานวิจัยอีกอย่างที่เป็นการทำควบคู่กันไป โดยหลังจากทราบผลในระดับสัตว์ทดลองแล้ว ก็จะนำเข้าสู่การศึกษาวิจัยในคนผ่านการรักษาช่องทางพิเศษ ที่เรียกว่า Special Access  Scheme หรือ SAS ช่องทางนี้จะเป็นการตอบโจทย์ผู้ป่วย 3 กลุ่มตามข้อบ่งชี้ที่กรมการแพทย์ออกมาก่อนหน้านี้” นพ.วีรวุฒิ กล่าว                    สำหรับการศึกษาวิจัยหรือการติดตามการใช้สารสกัดกัญชาผ่านช่องทางพิเศษ หรือ SAS ใน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ทราบแล้วว่าได้ผลชัดเจน คือ ภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากการใช้ยาเคมีบำบัดที่ดื้อต่อยาแผนปัจจุบัน   2. กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ คือ กลุ่มมะเร็งระยะสุดท้าย  และ3.กลุ่มที่อาจมีประโยชน์ในอนาคต คือ โรคมะเร็งชนิดต่างๆ กลุ่มนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป      

           ทั้งนี้ หากแยกย่อยในกลุ่มที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียน คนไข้กลุ่มนี้ค้อนข้างน้อย เพราะปัจจุบันยาที่ใช้ใน
กลุ่มคลื่นไส้ดีขึ้นมาก จะมีที่ไม่ตอบสนองก็น้อยมาก ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้เลย  ดังนั้น  อาจจะไปเน้นกลุ่มมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ 2 โดยหลังจากทราบปริมาณการใช้สารสกัดกัญชาในหนูทดลองแล้วว่า ต้องใช้สัดส่วน THC และ CBD เท่าไหร่ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จะนำมาเปรียบเทียบกับการใช้ในคน ทำให้ทราบว่า การวิจัยในกลุ่มที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ควรใช้น้ำมันกัญชาสัดส่วนขนาดไหน

         “เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าว เราจะนำมาวิจัยในกลุ่มที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ด้วยการให้น้ำมันกัญชาในสัดส่วนที่เหมาะสม จะทำให้ทราบว่าต้องบริหารการใช้ยาอย่างไร ที่จะทำให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และอาจทำให้ทราบว่า ควรลดการใช้ยาแก้ปวดต่างๆ อย่างไร แม้การศึกษาที่ผ่านมาในการใช้สารสกัดกัญชาก็ไม่ได้ลดอาการปวดได้เท่ามอร์ฟีน แต่ก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยลดการใช้ยาแก้ปวดลดลง สิ่งเหล่านี้จะเก็บข้อมูลทั้งหมด ส่วนในกลุ่มที่ 3 ที่อาจได้ประโยชน์ในอนาคต ก็ต้องมีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบว่า คนไข้เป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการรักษาแบบเดิม กับการรักษาด้วยสารสกัดกัญชา ผลการรักษาเป็นอย่างไร ซึ่งจุดนี้จะต้องรอผลการวิจัยอีก” ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าว

          นอกจากนี้ ในอนาคตอาจต้องมีการศึกษาวิจัยการตอบสนองของคนไข้ที่ใช้สารสกัดกัญชาด้วย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุว่า เพราะเหตุใดบางรายตอบสนองต่อสารสกัดกัญชาดี หรือบางรายตอบสนองไม่ดีเท่า ซึ่งจุดนี้ไม่แน่ชัดว่าเกิดจากคุณภาพของสารสกัดกัญชา หรือเกิดจากระดับยีนของตัวบุคคล อาจต้องมีการศึกษาวิจัยเรื่องยีนของแต่ละบุคคลด้วยหรือไม่ ก็จะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งในอนาคต

          เมื่อถามว่าการศึกษาวิจัยการใช้สารสกัดกัญชาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติจะมุ่งเน้นโรคมะเร็งชนิดไหน นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า จะใช้ในกลุ่มที่พบบ่อยในประเทศไทย ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งอุบัติการณ์ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่พบปีละประมาณ 1.2 แสนราย  เสียชีวิตปีละ 8 หมื่นราย  พบเพศชาย 4.5 หมื่นราย ขณะที่เพศหญิง 3.5 หมื่นราย โดยมะเร็งที่พบมากในเพศชาย คือ มะเร็งตับ ส่วนเพศหญิงพบมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับหนึ่ง  การศึกษาวิจัยก็จะเน้นในกลุ่มที่พบมากในประเทศไทยเป็นหลัก

     “จริงๆในมะเร็งชนิดอื่นๆ อย่างในสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาวิจัยเรื่องมะเร็งสมองชนิดที่เรียกว่า มะเร็งกลัยโอบลาสโตมา (glioblastoma multiforme หรือ GBM)  ซึ่งวิจัยในคนแล้ว แต่ยังไม่มีการแปรผลออกมา โดยการวิจัยนี้ใช้เวลานานมากเป็นสิบๆ ปี แต่สำหรับไทยหากจะทำก็จะใช้เวลานาน เราจึงต้องมีทั้งศึกษาวิจัยและการศึกษาผ่านช่องทางการรักษาแบบ SAS และการติดตามผลต่อเนื่องก่อน” นพ.วีรวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

     สำหรับการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าร่วมการศึกษานั้น จะเปิดให้ลงทะเบียน ส่วนรายละเอียดจะหารือกับทางกรมการแพทย์ และจะแจ้งแก่ทางสาธารณะต่อไป