องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

การปลูกกัญชา “เมดิคัล เกรด” เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย

20 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

        หลังจากองค์การเภสัชกรรม(อภ.)  เดินหน้าปลูกต้นอ่อนกัญชา เพื่อสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ มาตรฐานเมดิคัล เกรด ที่ได้ขออนุญาตตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562  กระทั่งต้นอ่อนออกดอก และตั้งเป้าพร้อมผลิตน้ำมันกัญชาภายในปลายเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2562 นั้น

        ระหว่างการรอน้ำมันกัญชาสำหรับหยดใต้ลิ้น เพื่อใช้ในโครงการวิจัยรักษาผู้ป่วย  เรามาไขข้อสงสัยกันดีกว่า ว่า ก่อนจะสกัดเป็นน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ ในเรื่องของการปลูกกัญชามีกี่แบบ และแบบใดเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อเป็นยา ในแบบฉบับเมดิคัล เกรดกันดีกว่า

         รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. ให้ข้อมูลว่า   การปลูกกัญชานั้นมีอยู่ 3 แบบคือ 1. Indoor หรือปลูกในอาคาร   2.Greenhouse เป็นการปลูกกึ่งอาคาร โดยให้ต้นกัญชาได้รับแสงอาทิตย์ แต่ต้องมีการออกแบบเทคนิคเฉพาะ   และ 3.Outdoor  ซึ่งตรงนี้หากปลูกได้จะดีมาก เพราะราคาจะถูกลง เพียงแต่เสี่ยงมีปัญหาในเรื่องของศัตรูพืช โรคต่างๆ  ซึ่งต้องควบคุมให้ดี ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่ยาก เหมือนการปลูกเกษตรอินทรีย์ก็ต้องมีการควบคุมให้ดีด้วย โดยขณะนี้เรากำลังพัฒนาและหาเทคนิคเฉพาะเพื่อให้ได้มาตรฐาน และปลอดเชื้อ ปลอดโรค ปลอดแมลง ซึ่งหากเราทำแบบ Outdoor เราต้องทำแบบเมดิคัลเกรด ไม่มีการฉีดสารเคมีใดๆ

       

        อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกองค์การเภสัชกรรม ได้เริ่มการปลูกกัญชาแบบ  Indoor ผ่านโครงการปลูกต้นกัญชาในโรงเรือนระบบปิด ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา  สำหรับการปลูกแบบดังกล่าว รศ.ดร.วิเชียร อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นการปลูกด้วยระบบรากลอยในอากาศ (Aeroponic) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด และเมื่อใช้การปลูกด้วยระบบนี้จะทำให้ต้นกัญชาเติบโตเร็วมาก เรียกว่าเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งของการปลูกกัญชาให้โตดี  เพราะจะทำให้รากต้นกัญชาสัมผัสอากาศ ให้เปียกบ้างแห้งบ้างและด้วยเทคนิคนี้จะช่วยป้องกันการเกิดโรคเชื้อราต่างๆที่มาทำลายราก  ขณะที่หากปลูกในดิน ความเสี่ยงทำให้เจอโรคย่อมมีสูง

        รศ.ดร.วิเชียร  บอกอีกว่า แม้เราจะปลูกด้วยระบบรากลอย แต่ไม่ใช่ว่า องค์การเภสัชกรรม จะเน้นปลูกแต่ในโรงเรือนระบบปิดเท่านั้น เพราะในอนาคต เราเตรียมพร้อมปลูกแบบ Greenhouse    และแบบ Outdoor   เช่นกัน เนื่องจากราคากัญชาจะต้องถูกลงเรื่อยๆ  เพราะการปลูกแบบ Greenhouse หรือแบบ Outdoor  นั้นจะถูกกว่าการปลูกใน Indoor ถึง 7-8 เท่า แต่ช่วงแรกเราต้องการยา จึงต้องปลูกด้วยระบบที่มั่นใจมากที่สุด คือ แบบ Indoor ซึ่งเป็นระบบปิดด้วยมาตรฐานเมดิคัลเกรด  เพราะสามารถควบคุมให้ได้มาตรฐานทางการแพทย์ 

        “จริงๆแล้วต้องบอกก่อนว่า การปลูกแบบ Outdoor ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่การทำให้เป็นเมดิคัลเกรด ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะต้องทำให้ได้มาตรฐานทางการแพทย์ ขณะนี้จึงกำลังพัฒนาวิธีการ เทคนิคต่างๆ เพื่อให้สามารถปลูกแบบกลางแจ้งที่ควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานเมดิคัล เกรดนั่นเอง”

        นอกจากนี้ รศ.ดร.วิเชียร ยังยกตัวอย่างว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา จะปลูกแบบ Indoor  มากกว่าแบบอื่น เนื่องจากสภาพอากาศหนาว  แต่หลายประเทศก็ปลูกแบบ Greenhouse   อย่าง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็กำลังดำเนินการ  ซึ่งประเทศไทย ในส่วนขององค์การเภสัชกรรม มีแผนในการปลูกทั้งแบบ Greenhouse และ Outdoor  เพียงแต่ต้องมีเทคนิคเฉพาะด้วย เพื่อให้คงความเป็นเมดิคัล เกรด นั่นเอง

        หลายคนอาจสงสัยว่า เพราะสาเหตุอะไรจึงจำเป็นต้องเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ หรือเมดิคัล เกรด   รศ.ดร.วิเชียร อธิบาย ว่า  เมื่อเป้าหมายในการปลูกกัญชา ขององค์การเภสัชกรรม คือ เป็นยา และมาตรฐานของการเป็นยา  สิ่งสำคัญคือ  ต้องปลอดภัย ไม่มีโลหะหนัก ไม่มีพิษ ไม่มีสารอันตรายจากเชื้อรา ไม่มียาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งกัญชาเป็นพืชเก่ง ดูดปุ๋ย ดูดโลหะหนักเก่งมาก และหากร่างกายเรารับสารพวกนี้มากๆ  เป็นเวลานานๆ ย่อมป่วยได้ อย่างสารที่อันตรายตัวหนึ่ง คือ แคคเมียม เมื่อเข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก และเป็นเวลานาน ย่อมเสี่ยงเป็นโรคอิไตอิไตได้ เพราะสารพวกนี้รับแล้ว ร่างกายขับออกไม่ได้  

        ดังนั้น คำว่า ยา  จะต้องมี  3 อย่างหลักๆ ประกอบด้วย  1.ต้องปลอดภัย (Safety)  2.ทุกขวดที่สกัดออกมาต้องมีสารมีฤทธิ์ของยาที่ใกล้เคียงกันหมด (Consistency)  3. ต้องมีประสิทธิภาพ (Efficacy)  นี่คือสิ่งสำคัญ ถึงเป็นเมดิคัล เกรด เพราะคือความหมายของคำว่า ยา


        เมื่อถามว่า อย่างในอดีต คนสมัยก่อนก็ใช้กัญชาทางการแพทย์โดยขณะนั้นยังไม่รู้จักมาตรฐานทางการแพทย์เลย ที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม บอกว่า อย่างสมัยก่อนมีการใช้กัญชา แต่ใช้กันในปริมาณน้อย เนื่องจากจะเป็นการใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ผสมกันเป็นสูตรตำรับ  แต่เมื่อปัจจุบันหากเราจะนำมาสกัดเป็นน้ำมันเพียวๆ ในระดับมาตรฐานทางการแพทย์ ก็ต้องมีการควบคุมคุณภาพ ยิ่งเมื่อต้องปลูกในปริมาณมากๆ เป็นไร่ๆ ก็จะมีศัตรูพืช มีโรคพืชมาหมด  เคยสังเกตหรือไม่ว่า  เวลาปลูกไม่มาก เพียง 1-2 ต้นจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่หากปลูกเป็นไร่ๆ จะมีปัญหาโรคจากพืช ศัตรูพืช ฯลฯ มาหมด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพ ยิ่งเมื่อต้องการให้เป็นยา ก็จะต้องยิ่งควบคุมให้ดี   

 

        สำหรับแผนการปลูกแบบ Greenhouse และแบบ Outdoor  นั้น รศ.ดร.วิเชียร บอกว่า ทั้งหมดอยู่ในแผนการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรม โดยอยู่ในระยะที่ 2 หลังจากระยะแรกคือ การปลูกต้นกัญชาแบบ Indoor  แล้ว ก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2  ซึ่งเป็นการปลูกแบบ Greenhouse  แต่ต้องมีการออกแบบเทคนิคเฉพาะก่อน เนื่องจากการปลูกแบบ Greenhouse  สำหรับประเทศไทยจำเป็นต้องออกแบบโรงปลูกเฉพาะด้วย เพราะต้องระวังช่วงฤดูฝน อาจทำให้เกิดความชื้น และต้นกัญชาเสี่ยงเกิดเชื้อราได้ง่าย  อย่างไรก็ตาม สำหรับการปลูกแบบ Indoor หรือการปลูกในโรงเรือนระบบปิด ก็จะยังทำควบคู่กันด้วยเช่นกัน

     

        “จริงๆ การปลูกกัญชาจำเป็นต้องมีเทคนิคเฉพาะ ซึ่งผมพยายามทำและค้นหามาตลอด โดยสิ่งที่ต้องระวังเมื่อปลูกกัญชา คือ การเกิดโรคในพืช ซึ่งมีอยู่ 3 โรคหลักๆ ประกอบด้วย โรครากเน่า เกิดจากเชื้อพิเทียม เกิดระยะต้นอ่อน หากอุณหภูมิ ความชื้นไม่เหมาะสมก็จะเกิดอีกโรค คือ  โรคราแป้ง  ซึ่งโรคนี้จะทำลายกัญชา และอีกโรคที่น่ากลัว คือ  โรคเชื้อราบนดอก จะพบการเกิดเชื้อราตรงนี้เยอะ เราจึงต้องระวัง นอกจากโรคเหล่านี้แล้ว ยังมีพวกยาฆ่าแมลงอีก ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการปลูกให้เป็นยา จึงจำเป็นต้องมีเทคนิคเฉพาะเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้นั่นเอง” รศ.ดร.วิเชียร กล่าว

        ที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม ยังทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเกษตรกรไทยมีฝีมือในการปลูกพืชอินทรีย์มามาก หากใช้ความพยายามและความอดทน ก็สามารถปลูกกัญชาทางการแพทย์ได้และเมื่อองค์การเภสัชกรรมค้นพบวิธีการ และเทคนิคต่างๆ ที่จะหลีกเลี่ยง สารพิษ และสารกําจัดศัตรูพืชได้ ก็จะนำไปส่งเสริม ให้เกษตรกรปลูก เพื่อนำมาผลิตเป็น ยา ต่อไปในอนาคต