องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

ตอบข้อสงสัย! ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ได้อย่างไร

20 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ข้อมูลเรื่องนี้ ว่า  กรณีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรค จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่คลายล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กัญชาและสารสกัดน้ำมันกัญชายังคงจัดเป็นยาเสพติด ถ้าผู้ป่วยต้องการใช้ง่ายที่สุดตอนนี้ คือ  ขอให้ไปปรึกษาแพทย์ก่อน ว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นเข้าได้กับโรคที่กรมการแพทย์แนะนำอยู่หรือไม่ แล้วแพทย์จะพิจารณาเองว่าใช้ได้หรือไม่ได้ หรือไม่ควรใช้   เนื่องจากแพทย์ที่มีสิทธิสั่งจ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรคได้นั้นต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรของกรมการแพทย์เท่านั้น และต้องสอบผ่าน ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วเท่านั้น

 “ถ้าเป็นเพียงการขอคำแนะนำนั้น เป็นแพทย์ที่ไหนก็ได้ ถ้าแพทย์ท่านนั้นเห็นว่าสามารถใช้สารสกัดน้ำมันกัญชารักษาโรคได้ แต่แพทย์ท่านนั้นยังไม่เคยอบรมฯ และขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาก่อน ก็สั่งจ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชาไม่ได้ ท่านอาจจะส่งต่อแพทย์ ที่ผ่านการอบรมฯ และขึ้นทะเบียนมาแล้วก็ได้ หรือผู้ป่วยอาจจะตรวจสอบรายชื่อแพทย์ที่ผ่านการอบรมฯ และขึ้นทะเบียนแล้วผ่านทางเว็บไซต์ของกรมการแพทย์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

  อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า  ช่วงแรกคงต้องเป็นในลักษณะนี้ไปก่อน แต่ตอนนี้ทางกรมการแพทย์อยู่ระหว่างทยอยอบรมแพทย์เพื่อเป็นผู้สั่งจ่ายสารสกัดกัญชารักษาโรคได้ ตอนนี้ผ่านไปประมาณ 300 กว่าคนแล้ว และกำลังทยอยอบรมแพทย์ รวมถึงเภสัชกรประจำโรงพยาบาลใหญ่ให้ครบทุกจังหวัด คาดว่าเร็วๆ นี้  ส่วนหนึ่งอาจจะยังครอบคลุมไม่ทั้งหมด แต่ก็จะค่อยๆทยอยอบรมไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมทั้งหมด


  นพ.สมศักดิ์ ย้ำเพิ่มเติม ว่า แพทย์ทั่วไปสามารถสั่งการรักษาด้วยยาปกติอื่นๆ ได้ แต่ไม่สามารถสั่งการรักษาด้วยยาเสพติดได้ แล้วตอนนี้กัญชาก็ยังเป็นยาเสพติด นอกจากนี้ แม้ว่าจะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในกลุ่มโรคที่กรมการแพทย์ได้ประกาศว่ากัญชาอาจจะมีประโยชน์ในการรักษา  เช่น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชักในเด็ก แต่หากแพทย์ท่านนั้นยังไม่ได้ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนผู้ใช้กัญชารักษาโรคกับไม่สามารถสั่งจ่ายได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น

  “การใช้สารสกัดกัญชารักษาโรคนั้น ถือว่าเป็นยาจึงต้องมีความปลอดภัยมาก ซึ่งปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยยังไม่มีที่ไหนผลิตสารสกัดออกมาได้ แม้แต่สารสกัดกัญชาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เองตอนนี้ก็ยังไม่ออกมา คาดว่าประมาณเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 2562  ถึงจะสกัดออกมาได้ ถ้าพูดกันตรงๆ ตอนนี้ก็มีแค่น้ำมันกัญชาใต้ดิน ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับอันตราย เพราะเราไม่ทราบว่ามีมาตรฐานแค่ไหน มีการปนเปื้อนอะไรหรือไม่ และขณะนี้ก็ยังมีรายงานว่ามีผู้ป่วยต้องถูกส่งมาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น หากไม่เร่งด่วน ส่วนตัวอยากประชาชนให้รอกันก่อน ยกเว้นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนก็ให้ไปปรึกษาแพทย์ เช่น เด็กป่วยโรคลมชัก ใช้ยากันชักแล้วก็ยังไม่สามารถรักษาได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 ส่วนกลุ่มโรคที่ต้องห้ามใช้กัญชาหรือสารสกัดน้ำมันกัญชา  นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้พูดยาก แต่จากการศึกษาและพิจารณาข้อมูลหลักฐานทางวิชาการแล้ว ปัจจุบันกรมการแพทย์ได้มีการประกาศการใช้สารสกัดจากกัญชาออกเป็น 3 กลุ่มโรคเท่านั้น ดังนี้

  กลุ่มที่ 1 สารสกัดกัญชาได้ประโยชน์ในการรักษา ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนชัดเจนคือ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด, โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา, ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาทที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล 

  กลุ่มที่ 2 สารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลวิชาการสนับสนุน หรือวิจัยเพิ่มเติม ในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลเพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ อาทิ โรคพาร์กินสัน, โรคปลอกประสาทอักเสบ, โรคอัลไซเมอร์, ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง โรควิตกกังวล และโรคอื่นๆ  ที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการว่าน่าจะได้ประโยชน์

  กลุ่มที่ 3 สารสกัดกัญชาอาจมีประโยชน์ในการรักษา แต่ยังขาดข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจนเพียงพอในด้านความปลอดภัยและประสิทธิผล ซึ่งต้องศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองก่อนนำมาศึกษาวิจัยในมนุษย์ อาทิ การรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ และโรคอื่นๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรคในกลุ่มที่ 1 และ 2    ไม่ได้แนะนำให้ใช้สารสกัดกัญชาเป็นทางเลือกแรกในการรักษา

  สรุปได้ว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การรักษาโรคด้วยน้ำมันกัญชา แม้จะเป็นกลุ่มโรคที่ระบุว่าสามารถรักษาได้ แต่ก็ยังไม่ใช่การรักษาทางเลือกแรก ดังนั้น ก่อนการรักษาต้องผ่านการพิจารณาของแพทย์ที่ผ่านการอบรมตามกฎหมายก่อนเป็นดีที่สุด