องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

ข้อแตกต่าง ‘กัญชา-กัญชง’ สารสำคัญทางการแพทย์

20 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

        หลายคนอาจเคยสงสัยว่า “กัญชา” กับ “กัญชง” แตกต่างกันอย่างไร และกัญชง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้หรือไม่..

เรื่องนี้มีคำตอบจาก ดร.ภญ.นันทกาญจน์  สุวรรณปิฏกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม(อภ.)  และรศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม หรือ อภ.

        โดย ดร.ภญ.นันทกาญจน์  สุวรรณปิฏกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม(อภ.)  ให้ข้อมูลว่า กัญชา และกัญชง ต่างมีสารสำคัญ คือ THC และ CBD  เหมือนกัน แต่มีสัดส่วนปริมาณสารสำคัญแตกต่างกัน  สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับกัญชงโดยเฉพาะ และกำหนดว่า ต้องเป็นกัญชงสายพันธุ์ที่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือสารดลต้า 9 เตทตระไฮโดรแคนนาบินอยด์(delta-9-tetrahydrocannabinoid)  เรียกสั้นๆ ว่า สารทีเอชซี (THC) ต่ำกว่า  1 เปอร์เซ็นต์  และต้องปลูกในพื้นที่ที่กำหนด แต่กัญชา จะมีสารทีเอชีสูงกว่า  ดังนั้น ปริมาณสารทีเอชซี จึงใช้แยกระหว่างกัญชาและกัญชงนั่นเอง

        ประเด็นคือ สายพันธุ์กัญชงของไทยนั้น เมื่อกำหนดให้สารทีเอชซีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้สารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol)  ประเภทซีบีดี (CBD) ซึ่งเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือไม่เมา มีจำนวนน้อยตามไปด้วย

        “ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงสายพันธุ์กัญชงให้มีสารซีบีดีสูง และทีเอชซีต่ำ  ก็มีประเด็นกัญชาทางการแพทย์เข้ามา กระทั่งมีการคลายล็อกกฎหมายเพื่อให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้พอดี อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศจะเรียกพืชในตระกูลกัญชง ว่า เฮมพ์ (Hemp) ซึ่งในต่างประเทศจะกำหนดให้ทีเอชซีต่ำกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ซีบีดีไม่ได้กำหนด เพราะใช้ประโยชน์และมีสรรพคุณต่างๆ โดยองค์การเภสัชกรรม จะเน้นการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา  ในส่วนของการพัฒนาสายพันธุ์กัญชงจะดำเนินการต่อไป” ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว

       เกิดคำถามว่าเมื่อสถานการณ์ซีบีดีกำลังมาแรง โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลกเตรียมเสนอสหประชาชาติ พิจารณาปลดล็อกสารซีบีดีออกจากยาเสพติด ทางองค์การเภสัชกรรมจะเตรียมพร้อมอย่างไร

        ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า   ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม อยู่ระหว่างพัฒนาวิธีการปลูกสายพันธุ์กัญชาให้ได้สารซีบีดีสูง และทีเอชซีต่ำ เบื้องต้นเรายังโฟกัสไปที่กัญชาอยู่ เพราะเน้นการนำไปใช้รักษาโรค เพื่อให้ได้กัญชาเมดิคัลเกรด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์กัญชงกับหน่วยงานเครือข่ายวิจัยแล้ว

        ขณะที่ รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม หรือ อภ.  ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า   กัญชง หรือที่เรียกว่า เฮมพ์ (Hemp) นับเป็นญาติกับกัญชา  จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า กัญชงก็มีการปลูกกันมาเป็นหมื่นปี โดยส่วนใหญ่กัญชง จะปลูกเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านเส้นใย ผลิตเสื้อผ้า เสื้อเกราะ ฯลฯ และยังนำมาใช้ประโยชน์อีกมากกว่า 5 หมื่นรายการ เรียกว่าเป็นพืชที่เหมาะนำมาใช้ในด้านอุตสาหกรรมได้ดี  ที่สำคัญหากนำมาปลูกแล้ว ไม่ค่อยมีศัตรูพืชอีก ซึ่งแตกต่างจากกัญชาจะมีศัตรูพืชมากกว่า

        รศ.ดร.วิเชียร  ยังอธิบายเพิ่มเติม ว่า หากพูดแตกย่อยเกี่ยวกับกัญชง เราแบ่งออกเป็น 1.กัญชงที่ปลูกเพื่อใช้เส้นใยอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ 2.กัญชงที่ใช้เมล็ด ซึ่งต่างประเทศพบว่ามีโอเมก้า 3 และ 6 ไม่มีไตรกลีเซอไรด์ มีโปรตีนสูง  จึงนำไปใช้ประโยชน์ด้านอาหาร และเครื่องสำอาง ฯลฯ และ3.กัญชงที่มีซีบีดีสูง แต่ทีเอชซีต่ำ ซึ่งในส่วนนี้หากสามารถพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ให้ซีบีดีสูง และทีเอชซีต่ำกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์ของดอกแห้ง ก็จัดว่าเป็นกัญชงเช่นกัน แต่ในประเทศแถบยุโรปจะกำหนดให้ทีเอชซีต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์

        ที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม ยังกล่าวถึงสารซีบีดี ว่า  คาดว่าในปี 2563 องค์การอนามัยโลกจะเสนอสหประชาชาติให้ปลดล็อกซีบีดีออกจากสารเสพติด แต่กัญชาหรือกัญชงที่มีสารซีบีดีสูง จะต้องมีสารทีเอชซีไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ จึงจะสามารถใช้ได้ ซึ่งในต่างประเทศก็เริ่มใช้กันแล้ว โดยแต่ละประเทศก็จะกำหนดสารทีเอชซีแตกต่างกัน ระหว่างต่ำกว่า 0.2 หรือ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย คาดว่าจะรอความชัดเจนจากองค์การอนามัยโลกก่อน 

        “อย่างสหรัฐอเมริกา ก็เพิ่งจะปลดล็อก   Hemp  ออกจากพืชเสพติดเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา เพราะเห็นถึงทิศทางการใช้ประโยชน์ของซีบีดี ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกประมาณ 25 ประเทศ ก็ได้มีการปลดล็อกแล้วเช่นกัน  ในส่วนขององค์การเภสัชกรรมนั้น ผมกำลังพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ให้มีซีบีดีสูง และทีเอชซีต่ำอยู่ ซึ่งปัจจุบันปลูกสายพันธุ์ที่มีสารซีบีดีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทีเอชซีต่ำอยู่ที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ต้องพัฒนาให้มีสารทีเอชซีต่ำกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์” รศ.ดร.วิเชียร กล่าวทิ้งท้าย